รู้หรือไม่ ? ‘เสลอปี้’ เกิดมาจากความพัง !

04/12/2022
ถ้าพูดถึงบรรดาเครื่องดื่มที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ จะมีเครื่องดื่มอยู่ชนิดหนึ่ง ที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยดื่มกันมาอย่างแน่นอน นั่นก็คือ เสลอปี้ ( Slurpee ) หรือเครื่องดื่มที่ปั่นเป็นเกล็ดเล็ก ๆ สามารถกดได้ในปริมาณที่ต้องการ ดื่มแล้วให้ความสดชื่น ซ่าชื่นใจ แถมยังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากทั่วโลกและในประเทศของไทยของเรา แต่ทุกคนเคยรู้กันไหมครับว่า แท้จริงแล้ว เจ้าเมนูเสลอปี้นี้เกิดมาโดยบังเอิญจากความพัง แล้วมันเกี่ยวกับความพังได้อย่างไร วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยนี้ให้ทุกคนกัน ไปกันเลย
ย้อนไปเมื่อปลายปี ค.ศ. 1950 เจ้าของร้าน Daily Queen ที่มีชื่อว่า Omar Knedlik ( โอมาร์ เนดลิค ) เป็นเจ้าของแฟรนไชส์เล็ก ๆ ในรัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยเป็นร้านไอศกรีมเล็ก ๆ ต้นทุนต่ำ เครื่องกดน้ำอัดลมที่มีอยู่ในร้านจึงมักจะมีอาการกดออกบ้าง ไม่ออกบ้าง หรือถึงขั้นพังอยู่บ่อย ๆ โอมาร์จึงตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการนำน้ำอัดลมไปแช่ในช่องแช่แข็ง เพื่อหวังว่าน้ำอัดลมจะสามารถเย็นทันที่จะมาขายให้กับลูกค้า ซึ่งน้ำอัดลมที่นำไปแช่ในช่องแช่แข็งไม่ได้แค่เย็นจัด แต่มีความเป็นเกล็ดน้ำแข็งอยู่ด้วย เมื่อได้ขายให้กับลูกค้า กลายเป็นว่าถูกใจลูกค้าเป็นอย่างมาก และทำให้เป็นที่นิยม จนโอมาร์ต้องตั้งชื่อเครื่องดื่มนี้ขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า ICEE
หลังจากนั้นโอมาร์ได้มีการจ้างวิศวกรมาออกแบบเครื่องปั่น ICEE มาโดยเฉพาะ จนได้มีการขายเฟรนไชส์เครื่องนี้ให้กับร้านสะดวกซื้อในสหรัฐอเมริกาประมาณ 100 ร้านค้า ภายใน 5 ปี จนในปี ค.ศ. 1965 7-Eleven ได้มาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ของเครื่องดื่ม ICEE ให้เป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว โดยทำการเปลี่ยนชื่อเป็น Slurpee ซึ่งมาจากเสียงการดูดเกล็ดน้ำแข็งขึ้นมาจากหลอดนั่นเอง โดยเสลอปี้ได้ทำการวางขายแก้วแรกในปี ค.ศ.1966 และต่อมาได้มีสาขาทั้งหมด 64,000 สาขา ใน 18 ประเทศ ซึ่งเสลอปี้เข้ามาในประเทศไทยในปี ค.ศ.1989 จนสามารถสร้างยอดขายรวมทุกสาขาได้ถึง 14 ล้านแก้วต่อเดือนเลยทีเดียว
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับเรื่องราวของเจ้าเสลอปี้สุดฮิตของเรา ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากวิธีแก้ปัญหาเครื่องกดน้ำอัดลมที่มักจะพังอยู่บ่อย ๆ โดยนำน้ำอัดลมไปแช่ในช่องแช่แข็ง จนกลายมาเป็นเครื่องดื่มปั่นที่ให้ความสดชื่น ซ่าถึงใจ ที่ทุกคนดื่มได้ดื่มกัน ซึ่งในปัจจุบันเครื่องดื่มเสลอปี้นั้นไม่ได้มีวางขายใน 7 - Eleven แล้ว ด้วยเหตุผลของการดูแลเครื่องกดที่ค่อนข้างลำบาก บวกกับกระแสการรักษาสุขภาพที่ทำให้คนดื่มเครื่องดื่มที่มีความหวานน้อยลงนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก https://bit.ly/3gWzpW7 https://bit.ly/3B7n7kz https://bit.ly/3UpozWu
บทความแนะนำ