มื้อเย็น

Retty Food Fact พริกไทย ทองคำสีดำแห่งชมพูทวีป วันนี้ Retty ขอพาทุกคนมาพบกับเรื่องราวการเดินทางของพริกไทย วัตถุดิบหลักที่ช่วยปรุงรสชาติอาหารให้เผ็ดร้อน และหอมหวน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องเทศที่มีติดบ้านทั้งครัวไทยและครัวเทศ พบได้ง่ายตามโต๊ะอาหารต่าง ๆ ในปัจจุบัน แต่ในอดีตนั้นพริกไทยกลับมีมูลค่ามากจนหลายชาติต่างแข่งขันทางการค้าเพื่อครอบครองทองคำสีดำแห่งชมพูทวีปนี้กันเลยทีเดียว ⠀ สาเหตุที่พริกไทย ได้รับขนามนามว่าเป็นทองคำสีดำแห่งชมพูทวีปนั้น เป็นเพราะในอดีตพริกไทยเป็นพืชพื้นเมืองในแถบชมพูทวีป นั่นคืออินเดีย ซึ่งรวมไปถึงเอเชียตอนใต้ พบหลักฐานเมื่อ 22,000 ปีก่อนคริสตกาลว่าชนพื้นเมืองในท้องถิ่นนั้นได้ค้นพบพืชชนิดนี้ และเรียนรู้ที่จะนำรสเผ็ดร้อนมาใช้ปรุงรสอาหารในแถบประเทศอินเดีย ต่อมาเมื่อสังคมขยายเกิดติดต่อทำการค้ากันกับชาวอาหรับ ชาติที่สร้างเส้นทางการค้าโบราณอย่างเส้นทางสายไหม พริกไทยก็ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ทำให้เครื่องเทศชนิดนี้เริ่มแพร่หลายไปตามเส้นทางการค้าต่าง ๆ ของโลก ⠀ ชาวอาหรับได้นำพริกไทยรอนแรมตามเส้นทางการค้าไปยังอียิปต์ ทำการค้าขายพริกไทยที่นั่นโดยไม่ได้เปิดเผยที่มา เพื่อที่จะผูกขาดการค้าพริกไทยแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ในยุคนั้นพริกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นมาก จนกลายเป็นเครื่องแสดงฐานะของชนชั้นสูงในขณะนั้น และพริกไทยยังเป็นเครื่องเทศหนึ่งที่ใช้ดับกลิ่นในกรรมวิธีการดองศพเพื่อทำมัมมี่ โดยมีหลักฐานสำคัญคือเม็ดพริกไทยในพระนาสิกของพระศพฟาโรห์รามเซสอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาพริกไทยในสมัยนั้นจะมีค่าพอกับทองคำ จนได้รับสมญาว่าเป็นทองคำสีดำ ⠀ ต่อมาการติดต่อค้าขายขยายตัวขึ้นอีกจนทำให้พริกไทยได้ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้าไปสู่ทวีปยุโรป แต่เป็นการผูกขาดทางการค้าโดยชาวอาหรับ “เวนิส” ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญในการค้าขายเครื่องเทศ โดยในปี ค.ศ. 1400 การค้าเครื่องเทศในเวนิสสูงถึง 500 ตัน โดยเป็นพริกไทยเกินกว่าครึ่ง ทำให้ในยุคนั้นเวนิสกลายเป็นเมืองที่ร่ำรวยที่สุด ในสมัยนั้นผู้คนบางแห่งใช้พริกไทยแทนเงินตราแลกเปลี่ยน และอีกข้อมูลที่น่าสนใจคือชาวดัตช์เรียกพริกไทยว่า “เปเปอเดอร์ (Peperduur)” ซึ่งมีความหมายว่าพริกไทยที่มีราคาสูงอีกด้วย ⠀ แต่การค้าย่อมมีการพลิกผันเพราะการค้าแบบผูกขาดกระตุ้นให้ชาติยุโรปเริ่มแสวงหาเส้นทางที่จะเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบโดยตรง กระทั่งในปี ค.ศ. 1497 กัปตันวาสโก ดากามา ชาวโปรตุเกส ประสบความสำเร็จในการเดินทางค้นหาแหล่งเครื่องเทศ จนมาถึงอินเดียในปีต่อมา และนำเครื่องเทศกลับมายังโปรตุเกสได้ในปี ค.ศ. 1499 การค้นพบนี้ทำให้ชาวยุโรปคิดว่าการเข้าถึงเครื่องเทศโดยไม่ผ่านชาวอาหรับนั้นสามารถทำได้ และเริ่มเข้ายึดเมืองท่าต่าง ๆ ในแถบมหาสมุทรอินเดีย และทลายการค้าขายพริกไทย และเครื่องเทศแบบผูกขาดนับแต่นั้นมา ⠀ ในปัจจุบันพริกไทยก็ค่อย ๆ มีมูลค่าลดลงตามกาลเวลา จากการทลายกำแพงการผูกขาดทางการค้า และหลายชาติเริ่มนำไปเพาะปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกมากขึ้น สำหรับในไทยพริกไทยก็เป็นพืชพื้นเมืองชนิดหนึ่งเช่นกัน โดยแหล่งเพาะปลูกพริกไทยขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี และแต่เดิมคนไทยเรียกพริกไทยว่า “พริก“ และใช้พริกไทยเป็นเครื่องเทศหลักในการประกอบอาหาร และปรุงรสเผ็ดร้อนให้กับอาหารต่าง ๆ จนต่อมาชาวโปรตุเกสได้นำพริกที่มีลักษณะคล้ายพริกขี้หนูที่ได้มาจากทวีปอเมริกาเข้ามาในสมัยอยุธยาตอนปลายราวปี ค.ศ.1750 ทำให้คนในยุคนั้นเปลี่ยนมาเรียกเป็น “พริกไทย” แทน และใช้พริกขี้หนูนั้นปรุงรสเผ็ดแทนพริกไทยนับแต่นั้นมา ⠀ และนี่คือเรื่องราวของพริกไทย จากพืชพื้นเมืองที่โลดแล่นไปสู่การเป็นเครื่องเทศอันล้ำค่าในหน้าหนึ่งของในประวัติศาสตร์โลก ในสมญานามทองคำสีดำแห่งชมพูทวีป ในโอกาสหน้า Retty Food Fact จะพาทุกคนไปหาความจริงเกี่ยวกับอาหารในเรื่องอะไร ก็อย่าลืมติดตามกันน้า ⠀ ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก https://bit.ly/3tG5GC9 https://bit.ly/3ggeVVD https://bit.ly/3ak9O2J https://bit.ly/32lVRNs https://bit.ly/32pUj5a https://bit.ly/3gkDNeY

  • 7
  • 1
21/04/25

Other Reviews