Retty Food Fact ความต่างระหว่าง ออดิบ กับ โหรา เลือกให้ถูก ต้นไหนกินได้ต้นไหนห้ามกิน! ⠀ เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ที่ทานแกงส้มออดิบแล้วเกิดอาการแสบร้อนในปาก เพราะแท้จริงแล้วที่ทานไปนั้น ไม่ใช่ “ออดิบ” แต่เป็น “โหรา” วันนี้ Retty จึงจะมาบอกข้อสังเกตและความแตกต่างของออดิบกับโหรา ว่าแบบไหนทานได้แบบไหนห้ามทาน แล้วทั้งสองต้นมีลักษณะต่างกันอย่างไรบ้าง ⠀ ออดิบ และ โหรา ต่างเป็นพืชตระกูลบอนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากจนเกิดความเข้าใจผิดกันบ่อยครั้ง ซึ่งต้นที่สามารถทานได้คือ “ออดิบ” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Colocasia gigantea Hook.f และยังสมารถเรียกตามภาษาถิ่นต่างๆ ได้ทั้ง ออกดิบ โชน กระดาดขาว คูน หรือตูน และข้อสังเกตง่ายๆ ของออดิบคือ ใบจะมีขนาดเล็กสีเขียวอ่อนและบาง รูปร่างคล้ายลูกศร ก้านใบสีขาวนวลห่างริมขอบใบ ลำต้นสีเขียวอ่อน มีแป้งเคลือบ ⠀ โหรา เป็นชนิดที่ทานไม่ได้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Alocasia macrorhiza Schott เรียกตามภาษาถิ่นต่างๆ ได้ทั้ง เอาะลาย บึมปื้อ กระดาดดำ และข้อสังเกตง่ายๆ ของโหราคือ ใบจะมีขนาดใหญ่สีเขียวเข้มและหนา รูปร่างคล้ายตาลปัตร ก้านใบติดขอบใบและมีสีเขียวเข้ม ลำต้นมีสีเขียวเข้ม หากมีลักษณะดังนี้ห้ามนำมารับประทานเด็ดขาดเพราะเจ้านี่คือโหรา ที่มีสารพิษชื่อว่า Calcium Oxalate ซึ่งเป็นผลึกรูปเข็ม ไม่ละลายน้ำ พบมากที่ในน้ำยางสีใสบริเวณลำต้น และใบ ⠀ หากรับประทานโหราเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองทั้งในปากและลำคอ คันปาก คันคอ แสบร้อน หรือทำให้ทางเดินอาหารอักเสบ อาการอาจรุนแรงจนกระทั่งกลืนอาหารไม่ได้ พูดลำบาก ไม่มีเสียง และอาจทำให้หายใจลำบากได้ด้วย ⠀ รู้แบบนี้แล้วหากจะนำออดิบมาเป็นวัตถุดิบเมนูต่างๆ ก็อย่าลืมสังเกตลักษณะของต้นกันด้วยนะว่าเป็นออดิบหรือโหรากันแน่ หรือหากจะทานเมนูที่ใส่ออดิบที่เราไม่ได้ทำทานเอง อาจจะต้องลองทานเพียงคำเล็กๆ แล้วรอดูอาการสักพัก หากไม่มีอาการปกติ ก็สามารถรับประทานต่อได้ แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ในทันที ⠀ ขอขอบคุณที่มาจาก https://bit.ly/3vMkosA https://bit.ly/2QtrL87 https://bit.ly/3cSA30S