หากพูดถึงชีวิตที่ฟาดฟันกับกาแฟในหลักพันแก้วขึ้นไป ทั้งยุคสมัยของกาแฟคั่วไหม้ในถุงเท้า มาจนถึงยุคแห่งความศิวิไลซ์ในการดื่มด่ำกับเรื่องราวของเครื่องดื่มที่ใช้กาแฟเป็นสารในการผสม Turn On Coffee ดูเหมือนจะเป็นร้านกาแฟที่ธรรมดามากสำหรับผมจริงๆ การมองอะไรแบบนั้นถึงไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ถ้ามองอีกมุม ว่าร้านกาแฟที่ใช้กระบวนการชงในแบบคลื่นลูกที่สามหรือสโลว์บาร์ที่จังหวัดปิดอย่างพิจิตร ถือว่าเป็นความกล้าหาญที่น่าชื่นชมอยู่ไม่น้อย คุณลองคิดดูว่าพิจิตรมักไม่ใช่จังหวัดที่เป็นทางผ่าน (เหมือนกับ Hub อย่างจังหวัดพิษณุโลกที่ผมอาศัยอยู่ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนของนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมาจนเกิดความเจริญในด้านวัฒนธรรมการกินดื่ม) การใช้ชีวิตและความเจริญของที่นี่จึงช้าและแทบจะหยุดนิ่ง คนก็ไม่เยอะ การคาดหวังถึงกาแฟดริปสักแก้วแทบเป็นศูนย์ Turn On Coffee จึงเป็นจุดหมายปลายทางเล็กๆสำหรับลูกค้าที่อยากจบชีวิตในแต่ละวันอย่างผมด้วยกาแฟดีๆสักแก้วหากต้องเดินทางผ่านไป แล้วใช้เวลาซื้อสิ่งต่างๆในร้านนั้นที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยรูปธรรม เช่น เพลงแจ๊ซซ, แสงสลัวๆอมเหลืองของโคมไฟ, การได้ยินเสียงพูดคุยของคนที่หน้าบาร์ หรือบรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกอบอุ่น เมนูกาแฟของที่นี่มีแทบทุกอย่างที่ต้องการ ตั้งแต่สโลว์บาร์แบบดริป, เอสเปรสโซ่ หรือกาแฟร้อนในคลื่นที่สามทั่วไป บาริสต้าหรือเจ้าของร้านหรือแม้แต่ผู้ช่วยในร้านรับผิดชอบหน้าที่ดังกล่าวได้ค่อนข้างดี และมีคนวนเวียนสัญจรไปมาอยู่เสมอ หลายสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายในแบบของตัวอักษร เช่น ประสบการณ์ หรือบรรยากาศที่ส่งผลต่ออารมณ์ มีที่ Turn On Coffee เหมือนที่คุณจะไม่ได้รับเมื่อไปร้านกาแฟที่เจ้าของไม่ได้ดำเนินธุรกิจเอง เอกลักษณ์ และความสัมพันธ์ต่อลูกค้าจึงจำเป็นมากสำหรับร้านกาแฟขนาดเล็ก