รู้หรือไม่ว่า​ 'ปาท่องโก๋'​ จริงๆ​ แล้วไม่ได้เรียกว่า​ ปาท่องโก๋

05/10/20220
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า​ 'ปาท่องโก๋' มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน​ ซึ่งในภาษาจีนกวางตุ้ง​ก็มีคำว่า​ ปาท่องโก๋​ (白糖糕) เป็นขนมหวานอีกชนิดหนึ่งของจีน ที่ออกเสียงเหมือนภาษาไทยเป๊ะ​เลย​ แต่! ไม่ใช่ปาท่องโก๋ในประเทศไทย!? แล้ว​ ‘ปาท่องโก๋’​ แท้จริงคืออะไรกันแน่ล่ะ?
ในภาษากวางตุ้งคำว่า​ ปาท่องโก๋​ คือ​ ขนมน้ำตาลขาว​ รูปสี่เหลี่ยม หรือบางครั้งจะตัดครึ่งอีกครั้ง เป็นทรงสามเหลี่ยมเพื่อให้ทานได้สะดวกขึ้น​ รสชาติคล้ายขนมถ้วยฟู​แต่เปียกกว่า ซึ่งคำว่า ‘ปา’​(白)​ แปลว่า​ ขาว​ ‘ท่อง’(糖)​ แปลว่า​ น้ำตาล​ ส่วนคำว่า​ ‘โก๋’​(糕)​ แปลว่า​ ขนมก้อน และสิ่งที่เราเรียกว่าปาท่องโก๋​นั้น​ ในภาษาจีนแต้จิ๋วใช้คำว่า​ 'อิ่วจาก้วย' (油炸粿) แปลว่า​ ขนมทอดน้ำมัน​ โดยคำว่า ‘อิ่ว’(油) แปลว่า​ น้ำมัน​ ‘จา’(炸) แปลว่า​ ทอด และ​ ‘ก้วย’(粿) แปลว่า​ ขนม​ 'อิ่วจาก้วย' จึงหมายถึงขนมที่ทอดโดยใช้น้ำมัน หรือที่ในประเทศไทยเรียกกันว่า 'ปาท่องโก๋’ นั่นเอง
แต่ในบางพื้นที่ทางภาคใต้ของไทยก็ใช้คำว่า 'อิ่วจาก้วย' เหมือนภาษาจีนแต้จิ๋ว​ ดังนั้นใครไปเที่ยวภาคใต้อย่าเพิ่งงงไปนะจ๊ะ มีการสันนิษฐาน​ว่า​ ที่คนไทยเรียกปาท่องโก๋​ เพราะสมัยก่อน​ คนจีนนำขนมมาวางขายหลากหลายรูปแบบ​ ทำให้สับสนว่าแบบไหนเรียกอะไร​ จนเข้าใจผิด​ และเรียกว่าปาท่องโก๋มาจนถึงปัจจุบัน
***เพิ่มเติม ปัจจุบันภาษาจีนกลางเรียกปาท่องโก๋​ว่า​ โหยวเถียว​ 油条 ซึ่งลักษณะ​ปาท่องโก๋​ในประเทศจีนจะมีขนาดที่ยาวกว่าประเทศไทย​ นิยมทานคู่กับน้ำเต้าหู้ ใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวหรือพบปะคนจีนก็ลองใช้คำนี้ดูได้น้าา
ขอบคุณข้อมูลจาก https://bit.ly/3cV6Q4P https://bit.ly/2SkCm2Q ขอบคุณรูปภาพจาก https://retty.co.th/restaurant/94460/200617/ https://de.cleanpng.com/png-wiasfa/
บทความแนะนำ