รู้หรือไม่ ? ทำไมกินสับปะรดแล้วแสบลิ้น

10/10/2021
เคยเป็นกันไหม กินสับปะรดทีไรรู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ ลิ้นทุกที มันเป็นเพราะอะไรกันนะ? แต่จะให้หยุดกินไปเลยก็เสียดายรสชาติแสนอร่อย และความหวานฉ่ำ อีกทั้งประโยชน์อีกหลายอย่างของสับปะรด วันนี้ Retty จะมาไขข้อสงสัย รวมถึงเคล็ดลับการกินสับปะรดไม่ให้แสบลิ้นอีกด้วย ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันเลยยย
สาเหตุที่เมื่อกินสับปะรดแล้วแสบลิ้น หรือบางคนอาจรู้สึกแสบคันมาจนถึงคอ เป็นเพราะว่าในสับปะรดมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า “บรอมีเลน” (Bromelain) โดยเอนไซม์ชนิดนี้มีคุณสมบัติเด่นในการย่อยสลายโปรตีน ซึ่งที่ลิ้นของเราก็มีโปรตีนตามธรรมชาติเคลือบอยู่ด้วยเช่นกัน ทำให้เวลากัดสับปะรดเข้าไป เอนไซม์ชนิดนี้จะสลายโปรตีนที่ลิ้นไปด้วย อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่บอบบาง จึงทำให้รู้สึกแสบได้ แต่เมื่อหยุดกินไปสักพัก ลิ้นก็จะสร้างโปรตีนขึ้นมาใหม่เพื่อเคลือบผิว ทำให้อาการแสบคันที่ลิ้นหายไปได้เองในช่วงเวลาสั้น ๆ อย่างไรก็ตามเอนไซม์บรอมีเลนในสับปะรดยังมีประโยชน์ทางโภชนาการ เพราะการกินเนื้อเข้าไปมาก ๆ จนเกิดการแน่นท้อง ท้องอืด การกินสับปะรดจะช่วยลดอาการดังกล่าวลงได้
ส่วนเคล็ดลับการกินสับปะรดไม่ให้แสบลิ้นมีด้วยกันหลายวิธี คือ ให้นำไปแช่ในน้ำเกลืออ่อน ๆ ทำให้ความเป็นกรดของสับปะรดลดลงเล็กน้อย หรือ ตัดแกนทิ้ง เพราะเอนไซม์นี้พบในแกนมากกว่าในเนื้อสับปะรด การตัดแกนทิ้งไปจะลดความแสบลงได้ นอกจากนี้การแช่เย็นยังทำให้เอนไซม์ดังกล่าวทำงานได้ลดลง เนื่องจากเอนไซม์นี้ทำงานได้ดีที่สุดในอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส และการผ่านความร้อนอย่างการเอาสับปะรดไปเป็นวัตถุดิบในการทำพิซซ่า เอนไซม์ก็จะสูญเสียความสามารถในการทำงาน จึงทำให้ไม่รู้สึกแสบคันลิ้นนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก https://bit.ly/3Fk0slF https://bit.ly/3mq3Wuh https://bit.ly/3aaumKy https://bit.ly/3ledZ6c
บทความแนะนำ