รู้หรือไม่? ทำไมกิน ‘ถั่ว’ แล้วตดบ่อย🥜

20/03/2022
เพื่อน ๆ ชอบกินถั่วกันไหมคะ ทุกครั้งที่เรากินถั่ว เพื่อน ๆ เคยมีปัญหาเรื่องตดบ่อยไหม และหลายคนคงเคยได้ยินตั้งแต่เด็กเลยว่า อย่ากินถั่วเยอะ เพราะจะทำให้ตด แต่ก็ไม่เคยรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงเลย วันนี้ Retty จึงจะชวนทุกคนไปหาคำตอบกันว่า ทำไมกิน ‘ถั่ว’ แล้วตดบ่อย ตามไปอ่านกันเลย
ถั่ว เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย และถั่วถือเป็นตัวการสำคัญในการสร้างแก๊สในลำไส้ใหญ่ด้วย เพราะถั่วเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่มีชื่อว่า โอลิโกแซกคาไรด์ (oligosaccharides) ซึ่งคาร์โบไฮเดรตชนิดนี้จะไม่มีเอนไซม์ในการย่อย จึงต้องให้จุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่มาทำหน้าที่ย่อยอาหารที่เอนไซม์ไม่สามารถย่อยได้แทน นอกจากนี้ในถั่วมีกากใยจำนวนมาก และยังมี resistant starch หรือแป้งทนการย่อยอยู่บริเวณผิวถั่ว ซึ่งแป้งทนการย่อยคือแป้งที่เอนไซม์ไม่สามารถย่อยได้และไม่สามารถดูดซึมได้ในลำไส้เล็ก มีคุณสมบัติคล้ายกับกากใยอาหาร ทั้งสองตัวจึงต้องถูกส่งไปย่อยที่ลำไส้ใหญ่ทั้งคู่ เวลากินถั่วจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่เลยทำงานอย่างหนัก ทำให้เกิดแก๊สมาก และตดออกมาในที่สุด
ดังนั้น ตด จึงจากกระบวนการการย่อยของลำไส้ใหญ่ โดยจุลินทรีย์ทำให้เกิดแก๊สไนโตรเจน ไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน จากนั้นถูกดันออกมาเป็นตด ซึ่งการตดเป็นเรื่องธรรมชาติมาก ๆ คนเราตดวันละ 10-20 ครั้ง เป็นเรื่องปกติ
อย่างไรก็ตาม ถั่วก็ยังเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพราะเป็นพรีไบโอติกส์ ช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลช่วยบำรงเซลล์ลำไส้ใหญ ช่วยดูดซึมแร่ธาตุโดยเฉพาะแมกนีเซียมและแคลเซียม และยังช่วยการทำงานของอินซูลิน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีโปรตีน มีวิตามิน และเกลือแร่สูงอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ ก็ได้รู้แล้วว่า ทำไมกินถั่วแล้วจึงตดบ่อย เพราะในถั่วประกอบไปด้วย โอลิโกแซกคาไรด์ แป้งทนการย่อย และกากใยอาหารจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้จุลินทรีย์ในการย่อย เราจึงตดได้ตดดีเวลากินถั่ว ทั้งนี้แต่ละคนจะตดมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของถั่วและปริมาณจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ของแต่ละคนด้วย
เพื่อน ๆ คนไหนชอบกินถั่วแต่ก็เจอปัญหาตดบ่อย ให้ลองกินถั่วครั้งละน้อย ๆ หลายครั้ง แทนการกินครั้งละจำนวนมาก ๆ จะช่วยให้ตดน้อยลงได้ ลองนำวิธีนี้ไปใช้ดูน้าาา
ขอบคุณข้อมูลจาก https://bit.ly/3ulNIY2 https://bit.ly/3DOqehk https://bit.ly/3x8e3eb