รู้หรือไม่? 'แสร้งว่า' ชื่อเมนูสุดครีเอท มาจากไหน!

06/03/2022
เพื่อน ๆ เคยกิน ‘แสร้งว่า’ กันไหม? หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้างใช่ไหมคะ เพราะตอนเด็ก ๆ คุณครูภาษาไทยมักให้ท่องกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และหนึ่งในเมนูที่อยู่ในกาพย์นั้นก็คือ แสร้งว่า แล้วเพื่อน ๆ สงสัยกันไหมว่า แสร้งว่าคืออะไร แล้วทำไมต้องชื่อว่าแสร้งว่า วันนี้เรามาไขข้อสงสัยนี้ ไปพร้อม ๆ กันเลย
แสร้งว่า คือ อาหารชาววังโบราณ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นน้ำพริกเครื่องจิ้ม กินคู่กับผักดิบ ลักษณะเข้มข้น ปรุงรสจัดจ้าน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด หอมกลิ่นสมุนไพร จะกินจิ้มกับผักดิบหรือคลุกกับข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อย จริง ๆ แล้วแสร้งว่าดัดแปลงมาจาก ‘ยำไตปลา’ เครื่องจิ้มพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้ ซึ่งมีไตปลาเป็นส่วนประกอบหลัก ดับกลิ่นคาวด้วย ขิง ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง ใบมะกรูด ปรุงรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะกรูด น้ำมะนาว และน้ำตาล ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
เนื่องด้วยชาววัง ไม่คุ้ยเคยกับกลิ่นและรสชาติของไตปลา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของคนใต้ โดยการนำพุงปลาหมักกับเกลือ เพื่อเป็นการถนอมอาหาร ทำให้เกิดเมนูแสร้งว่า ที่มีการดัดแปลงไม่ใช้ไตปลา แต่ใช้ปลาสลาดย่างและเคยกุ้ง (กะปิกุ้ง) หรือกุ้งเผากับมันกุ้งแทน และเติมน้ำมะขามเปียกเพิ่มลงไป นอกจากนั้นวัตถุดิบทุกอย่างเหมือนกับยำไตปลาของภาคใต้ทุกประการ
สาเหตุที่มีชื่อเมนูว่า ‘แสร้งว่า’ มาจากการแกล้ง ๆ ทำให้เหมือนยำไตปลา คือพยายามปรุงให้เหมือนยำไตปลา เครื่องปรุงต่าง ๆ เหมือนทุกอย่าง แต่ไม่ใช้ไตปลา หากใช้กุ้งเป็นวัตถุดิบจะเรียกว่า แสร้งว่ากุ้ง ถ้าหากใช้ปลาก็จะเรียกว่าแสร้งว่าปลา นอกจากนี้แสร้งว่าเป็นอาหารชาววัง จึงจะถูกเสิร์ฟมาพร้อมกับจานที่ถูกแกะสลักมาอย่างสละสลวยตามฉบับชาววังนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก https://bit.ly/3D9AtwH https://bit.ly/3NccLV7 ขอบคุณรูปภาพจาก คุณ Ngee Supajit